ปรีแอมป์หลอดในกล่องไม้

ช่วงต้นปีนี้ผมได้มีโอกาสประกอบปรีแอมป์หลอดเบอร์ 6J1/6AK5 ไปหลายเครื่องอยู่เหมือนกัน ด้วยความประทับใจในน้ำเสียงของวงจรตัวนี้ (ตามกระแสในเว็บ DIY บ้านเราครับ) มีทั้งที่ประกอบใช้เอง ประกอบให้ชาวบ้าน และที่ประกอบมาทำไมก็ไม่รู้ (อย่างเจ้าเครื่องนี้ 😛 )

pre_w01

ถือเป็นปรีแอมป์ที่ “จัดเต็ม” ที่สุดเท่าที่ผมเคยประกอบมาเลยครับ – ตั้งใจว่าจะทำเก็บไว้ใช้งานเองยาวๆ แต่เอาเข้าจริงๆ เปิดไปแค่ครั้งสองครั้งเท่านั้นเอง เหตุเพราะโดนเพื่อนๆ และลูกค้าหักคอซื้อพาวเวอร์แอมป์ที่ผมมีในครอบครองไปหมดแล้ว เลยไม่รู้จะต่อใช้งานกับอะไรดี / สงสัยว่าเจ้าเครื่องนี้ก็คงจะได้ปล่อยขายต่อไปมากกว่าจะได้เก็บไว้ใช้เองอีกช่นเคย

pre_w02

แต่ก่อนที่จะถูกพรากไปจากผม เลยจับมาถ่ายรูป ลงรายละเอียดเก็บไว้เป็นที่ระลึกกันก่อนดีกว่า – เริ่มจาก Volume Knob หน้าเครื่องนี้เป็นงานโลหะผสมพลาสติก ของ Vintage แท้ๆ เลยครับ ไปขอแบ่งซื้อต่อมาจากเพื่อนท่านหนึ่ง

ส่วนกล่องไม้นี้ก็ไปกวนให้คุณครรชิต ช่างไม้ มือหนึ่ง ทำให้ครับ เข้าใจว่าเป็นไม้ประดู่ทำสีโอ้คนะครับ กว่าจะเซาะร่องลิ้นตอกขึ้นรูปเป็นกล่องได้นี่ก็เสียไม้ไปหลายอยู่เหมือนกัน รอกล่องไม้นี้อยู่หลายเดือนเลยครับ เพราะทำแล้วแก้/รื้อทำใหม่กันอยู่หลายรอบเหมือนกัน (เพราะฉะนั้นคงจะไม่มีโอกาสได้ทำกล่องทรงนี้ใหม่แล้วล่ะครับ ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนแน่นอน)

pre_w03

ช่องเจาะต่างๆ บนผิวไม้ก็ใช้เซาะร่องจากด้านในทั้งหมดเลยครับ ไม่ได้เข้าชิ้นงานแล้วมาเจาะ หรือมาเซาะร่องข้างนอกกันทีหลัง เรียกว่าไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนใจกันทีหลังเลยครับ ต้องคำนวนดีๆ ก่อนเริ่มลงมือทำเท่านั้น

สวิตช์ ปิด/เปิด เป็นงานญี่ปุ่น – IEC Inlet ของ Furutech รุ่น FI-10 (G) แบบชุบทอง/ขันน็อต – กระบอกฟิวส์ใช้งานไต้หวัน เพราะโดนงานญี่ปุ่นเข้าไป แอบไม่ทนความร้อนเท่า บัดกรีทีพลาสติกละลายเลย / ส่วน RCA Sockets ใช้ของ CMC แท้ โดยใช้เป็นแบบชุบเงิน สำหรับสัญญาณขาเข้า และแบบชุบทอง สำหรับสัญญาณขาออก (หลังจากลองต่อดูหลายๆ อ้อปชั่นแล้ว ชอบเสียงแบบนี้ที่สุดครับ)

pre_w04

ส่วนฝาข้างตัดแผ่นอาคลิริคใส่ปิดกันฝุ่นไว้ทั้ง 2 ด้าน โชว์งานภายในตัวกล่องได้ เพราะความร้อนขณะใช้งานน้อยมากครับ

pre_w05

สายสัญญาณ และสายไฟ ภายใน สั่งเป็นสาย Vintage งานอังกฤษ เป็นสายทองแดงชุบเงินสำหรับสายสัญญาณ และสายทองแดงชุบนิคเกิ้ลสำหรับสายไฟครับ / ส่วนหม้อแปลงใช้เป็นหม้อแปลง EI งาน Vintage เหมือนกัน แกนในทองแดงหนาและหนักกว่างานปัจจุบันแบบคนละเรื่องเลยครับ

pre_w06pre_w07

ใต้กล่องก็เจาะพุ๊กเกรียวสำหรับขัน Spike แบบ 3 ขาเอาไว้ด้วยครับ เพื่อความเสถียรในการวางใช้งาน

pre_w08

สไปค์และจานรองเป็นงานชุบนิกเกิ้ลด้าน แบบเดียวกับขั้วลำโพงที่ผมใช้ในงานตู้ลำโพงของผมเลยครับ (สั่งจากอเมริกาอีกนั่นแหละ)

pre_w09

R ในแผ่นวงจรใช้เป็น Dale ทั้งหมด ส่วน C ก็ใช้ Nippon Chemical / หลอดเปลี่ยนไปใช้เบอร์ 5654RT ของ RTC แบบ Matched Pair แทนครับ เสียงดีกว่าเดิมแบบคนละเรื่องเลย / Volume ใช้ของ ALPS Japan รุ่นกล่องน้ำเงินครับ / ในกระบอกฟิวส์ยัด ฟิวส์เกรดออดิโอไว้ด้วยครับ

pre_w10

และเพราะความที่สั่งทำกล่องไม้ไปโดยไม่ได้คำนึงถึงตอนประกอบร่างเลยว่าจะขันน็อตในตัวกล่องได้ยังไง ทำให้ในที่สุดผมก็ต้องไปจัดไขควงแบบ Offset ของญี่ปุ่นมาอีกชิ้น (โดนค่าไขควรไปอีก 600 กว่าบาท หายซ่าเลยครับ 😛 )

lb_0

และสุดท้ายฝากงานไม้อีกกล่องที่ประกอบให้เป็นของขวัญคนอื่นไปก่อนหน้านี้ งานกล่องเดียวกัน งานวงจรเดียวกัน แต่แผงวงจรเล็กกว่า เป็นวงจร Little Bear ดั้งเดิมที่โดนผมจับโมเต็มไปแล้วครับ ตัวกล่องเลยสั้นกว่าตัวของผมอยู่หน่อย น่ารักน่าชังดีพิลึกเลยครับ / แต่เสียงดีพอกันทั้งคู่เลย